ในฐานะนักปฏิวัติ ของ ซุน ยัตเซ็น

สี่สหาย

ภาพของซุน ยัตเซ็น (นั่งคนที่สองจากซ้าย) และสมาชิกปฏิวัติสี่สหาย ได้แก่ ยึงฮกลิง (ซ้าย), ชานซิวบาก (นั่งคนที่สองจากขวา), เยาลิต (ขวา) และ กวน จิงเลี่ยง (อักษรจีน: 關景良) (ยืน) ที่วิทยาลัยการแพทย์ในฮ่องกง

ในระหว่างที่ ซุนยัดเซ็น พำนักอยู่ในฮ่องกงก็ได้พบปะกับเหล่านักศึกษาที่มีแนวความคิดเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ประชาธิปไตย ซึ่งซุนได้เริ่มตั้งกลุ่มขึ้นโดยใช้ ชื่อเล่นว่า "สี่สหาย" ที่วิทยาลัยการแพทย์ฮ่องกง[13] การตั้งกลุ่มสี่สหายได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดกันและโต้เถียงปัญหาการเมือง ซึ่งทำให้ซุนเริ่มมีแนวความคิดต่อต้านการปกครองของราชวงศ์ชิงขึ้น

การงาน และการต่อต้านราชวงศ์ชิง

นายแพทย์ซุน ยัตเซ็น ได้เป็นแพทย์ที่มาเก๊าและกวางโจว ในขณะที่ทำงานเป็นแพทย์ ซุนมีลักษณะนิสัยที่ชอบช่วยเหลือผู้คน บางครั้งท่านก็รักษาคนไข้ฟรีด้วย[14] การรักษาคนไข้ของซุนทำให้ซุนได้รับรู้ถึงความทุกข์ยากของผู้คนที่มาให้ท่านรักษาที่ต่างล้วนแต่ยากจนและอับจนหนทางในชีวิตจนต้องอยู่ไปวัน ๆ แบบไร้อนาคต ซุนได้ตระหนักว่าสาเหตุเหล่านี้ล้วนเกิดจากสังคมที่สิ้นหวังทุกหย่อมหญ้า อันเนื่องมาจากระบบสังคมและการปกครองที่ต่างหยุดนิ่งโดยไม่พัฒนาไปด้านไหนมาเป็นเวลายาวนานตลอดช่วงการปกครองของราชวงศ์ชิงทำให้ประเทศจีนไม่สามารถตามโลกได้ทัน ซึ่งสาเหตุหลักนั้นก็มาจากการปกครองภายใต้ราชวงศ์ที่สวนกระแสโลกในขณะนั้น จนทำให้จีนไม่ทันความเจริญและการเปลี่ยนแปลงของโลก ซุนยังตระหนักอีกว่าเราต้องทำอะไรสักอย่างให้ประเทศจีนและชาวจีนหลุดพ้นจากวงจรที่เลวร้ายเหล่านี้ ทำให้ท่านคิดว่าไม่ใช่เพียงร่างกายคนเท่านั้นที่ต้องการการรักษายังต้องรักษาความคิดและจิตใจของคนอีกด้วย ซึ่งประเทศจีนตอนนั้นก็เปรียบเสมือนคนป่วยคนหนึ่ง ดังนั้นท่านจึงพยายามที่จะรักษาประเทศของท่านเองด้วยวัยเพียง 18 ปี ท่านได้เขียนร่างจดหมายถึงรัฐบาลจีน เพื่อขอร้องให้มีการปฏิรูป

เขียนฎีกาขอร้องการปฏิรูปประเทศ

ซุน ยัดเซ็นเวลานั้นมีความคิดอ่านปฏิวัติบ้างแล้ว ยังไม่ถึงขั้นเป็นนักปฏิวัติประชาธิปไตย เขาได้รับแรงดลใจจากแนวความคิดลัทธิปฏิรูปที่แพร่หลายอยู่ในประเทศจีนชั่วขณะหนึ่ง โดยฝากความหวังไว้กับขุนนางผู้ใหญ่บางคนของชนชั้นปกครอง ก้าวไปตามวิถีทางของลัทธิปฏิรูปด้วยคิดว่าความคิดอ่านของตนอาจได้รับความเห็นขอบจากขุนนางผู้ใหญ่บางคน

ครั้นแล้ว ฤดูร้อนปี ค.ศ. 1894 ซุนขอเข้าพบขุนนางผู้ใหญ่ หลี่ หงจาง (อักษรจีน: 李鸿章) ขุนนางคนสำคัญของราชสำนักชิงผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งกุมอำนาจทางการทหาร การบริหารและการทูตของราชสำนักชิงอยู่ในเวลานั้น โดยการเสนอให้ปฏิรูปการปกครอง แต่ซุนก็ไม่เคยมีแม้กระทั่งโอกาสที่จะได้เข้าพบหลี่หงจาง ซ้ำความคิดเห็นของเขาก็มิได้รับความสนใจเอาเลย ขุนนางผู้ใหญ่ศักดินาที่เป็นขี้ข้าและนายหน้าค้าต่างของจักรวรรดินิยมหรือ จะสามารถรับข้อเสนอที่มีลักษณะก้าวหน้าในยุคนั้นได้

เมื่อถูกปฏิเสธครั้งแรก ซุนได้ร่างฎีกาเป็นหนังสือเรียกร้องขอให้มีการปฏิรูปประเทศ หนังสือที่เขาเขียนถึงหลี่นั้น มีความยาวถึงแปดพันคำ กล่าวโดยสรุปสาระสำคัญของบันทึกฉบับนี้คือ ฝากความหวังไว้กับคนชั้นสูงของชนชั้นปกครองให้ดำเนินมาตรการปฏิรูปของชนชั้นนายทุนบางประการและเรียกร้องให้มีการนำหลักประชาธิปไตยมาใช้ และในปีเดียวกันซุนได้พยายามถือฎีกาเดินทางขึ้นไปยังปักกิ่งเมืองหลวง เพื่อส่งจดหมายถึง หลี่ หงจาง โดยซุนต้องการเสนอแนวทางการพัฒนาจีนให้กับเขา แต่กลับถูกปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย หลี่ หงจางได้ฉีกฎีกาจดหมายนั้นลงถังขยะ พร้อมทั้งกล่าวเหยียดหยันซุนว่าเป็นคนไม่มีสัมมาคารวะ

สมาคมซิงจงฮุ่ย

เมื่อถูกปฏิเสธ ซุนจึงตระหนักดีว่า การเปลี่ยนแปลงจีนให้หลุดจากการปกครองของราชวงศ์ชิง นั้นไม่สามารถทำได้ด้วยวิธีอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่จำเป็นต้องกระทำการแบบ "พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน" อันหมายถึง "การใช้กำลังปฏิวัติ" ดังนั้น ในฤดูหนาวปีเดียวกัน ซุนจึงเดินทางกลับไปยังฮาวาย โดยมีแนวความคิดที่จะรวบรวมชาวจีนโพ้นทะเลผู้รักชาติขึ้น ดังนั้นในปีเดียวกันท่านและลู่ เฮาตง สหายของท่านได้ก่อตั้งองค์การจัดตั้งการปฏิรูปขึ้นมาหรือที่เรียกว่า "สมาคมซิงจงฮุ่ย" (อักษรจีน: 兴中会) ที่มีความหมายว่า "ฟื้นฟูประเทศจีน" ขึ้น ทั้งนี้เงินทุนสนับสนุนสมาคมดังกล่าวก็มาจาก ซุนเหมย พี่ชายของท่าน และตั้งแต่นั้นมาซุนยัตเซ็นก็ได้เริ่มชีวิตที่เปลี่ยนไป ท่านได้ทำการต่อสู้กับราชสำนักชิง โดยหวังว่าประเทศจีนจะสามารถกลายเป็นประเทศที่เป็นอิสระ เสมอภาค และมั่นคง เขาค่อย ๆ รู้สึกว่า วิถีทางปฏิรูปโดยสันตินั้นจะมีประโยชน์อันใด จำเป็นต้องใช้วิธีการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานแทนวิธีการปฏิรูปเพียงส่วนหนึ่ง

ในปีเดียวกันสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง ได้ระเบิดขึ้น สงครามครั้งนี้เหล่าทหารหาญจีนได้ต่อสู้อย่างทรหดและห้าวหาญ แต่รัฐบาลราชวงศ์ชิงที่เหลวแหลก และไร้สมรรถภาพมิกล้าทำสงครามอย่างเด็ดเดี่ยวทำให้ฝ่ายจีนต้องได้รับความเสียหายอย่างหนัก สร้างความสะเทือนใจ และเคียดแค้นให้แก่มวลชนทั่วประเทศ บัดนั้นเอง ซุนยัดเซ็นรู้สึกอีกครั้งหนึ่งว่า ประเทศจีนกำลังเผชิญกับวิกฤตของประชาชาติอย่างหนัก ยิ่งกว่านั้นเขาได้สำนึกว่า สันติวิธีนั้นใช้การไม่ได้เลยจึงจำเป็นต้องใช้วิธีการรุนแรงโดยการปฏิวัติเท่านั้น ที่เป็นวิถีทางเดียวที่จะแก้วิกฤติของประเทศจีนได้ ซุนยัดเซ็นได้เดินทางไป อเมริกาด้วยอุดมการณ์อันยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เขาได้ติดต่อและปลุกระดมชาวจีน ในตอนแรกคนที่สนับสนุนความคิดอ่านของเขานั้นมีอยู่เพียงไม่กี่คนจัดตั้ง สมาคมเพื่อการปฏิวัติครั้งแรกจึงเป็นชนชั้นที่เป็นกลุ่มของชนชั้นนายทุนที่มีความรู้

ด้วยความมานะในการเคลื่อนไหวซึ่งในที่สุดเขาก็ได้รับการสนับสนุนจากคนจำนวนหนึ่งทำการก่อตั้งสมาคมซิงจงฮุ่ย (ฟื้นฟูจีน) ซึ่งเป็นสมาคมปฏิวัติขนาดเล็กของชนชั้นนายทุนช่วงแรก ๆ ของจีน และเปิดการประชุมที่ฮอนโนลูลู ที่ประชุมได้มีมติผ่านร่างระเบียบการของสมาคมที่ซุนเป็นผู้ร่าง ในระเบียบการระบุว่า

"ประเทศจีนตกอยู่ภาวะคับขัน ปัจจุบันมีศัตรูล้อมรอบคอยจ้องตะครุบทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของจีน โดยเหล่าศัตรูพากันรุมเข้ามารุกรานและยึดครองจีน แล้วดำเนินการแบ่งสันปันส่วนอันเป็นสิ่งน่าวิตกอย่างยิ่ง พร้อมกันนั้นก็ประนามชนชั้นปกครองราชวงศ์ชิงที่โง่เขลาและไร้สมรรถภาพว่า ฝ่ายราชสำนักก็โอนอ่อนผ่อนตาม ส่วนขุนนางหรือก็โง่เขลาเบาปัญญา ไม่สามารถมองการณ์ไกล ทำให้ประเทศชาติต้องเสียทหาร ได้รับความอัปยศอดสูพวกขี้ข้าพาให้บ้านเมืองสู่ความหายนะ มวลชนต้องได้รับเคราะห์กรรมทนทุกข์ทรมานไม่มีวันโงหัว การก่อตั้งสมาคมนี้ขึ้นก็เพื่อกอบกู้ชาติบ้านเมือง ผดุงไว้ซึ่งศักดิ์ศรี เพื่อรวบรวมประชาชนจีนทั้งใน และนอกประเทศ เผยแพร่อุดมการณ์กู้ชาติ"

ในคำปฏิญาณของผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกนั้น ยังได้ย้ำอีกว่า จะต้องขับไล่พวกแมนจู ที่ป่าเถื่อนออกไป ฟื้นฟูประเทศจีนจัดตั้งสาธารณรัฐ อันเป็นความคิดที่มีลักษณะปฏิวัติ ได้เสนออุดมการณ์ให้โค่นล้มราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นทาสรับใช้ของจักรวรรดินิยม และสถาปนาสาธารณรัฐ ปกครองโดยประชาธิปไตย มีชนชั้นนายทุนสนับสนุนแบบตะวันตกต่อประชาชนจีนเป็นครั้งแรก ซึ่งได้กลายเป็นหลักนโยบายอันแรกของการปฏิวัติของชนชั้นนายทุนประเทศจีน

การปฏิวัติที่กว่างโจว

"ธงท้องฟ้าสีคราม ตะวันสาดส่อง" ซึ่งใช้เป็นธงของสมาคมซิงจงฮุ่ยในการปฏิวัติที่กว่างโจว

ด้วยความรวดเร็ว สมาคมซิงจงฮุ่ย วางแผนการปฏิวัติในทันที และกำหนดเอาวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ.1895 เป็นวันลงมือ โดยแผนการดังกล่าวนั้น ใช้กำลังคน 3,000 คน เพื่อยึดเมืองกว่างโจว เมืองเอกของมณฑลกวางตุ้ง เพื่อใช้เป็นฐานในการขยายการปฏิวัติต่อไป โดยในการปฏิวัติดังกล่าว ลู่เฮ่าตง เพื่อนสนิทตั้งแต่ยังเด็กผู้เชื่อมั่นในอุดมการณ์ปฏิวัติของซุน ได้ออกแบบ "ธงฟ้าสีน้ำเงินกับดวงตะวันสีขาว" ไว้ใช้ด้วย (ในเวลาต่อมาธงดังกล่าวได้กลายเป็นธงชาติของสาธารณรัฐจีน) อย่างไรก็ตาม การลงมือปฏิวัติครั้งแรกของซุน กลับล้มเหลวลงอย่างไม่เป็นท่า เนื่องจากมีคนทรยศ นำข่าวไปบอกกับเจ้าหน้าที่ของราชสำนักชิงก่อน ซึ่งก็ทำให้ผู้ร่วมปฏิวัติถูกประหารชีวิตตัดหัวไป 47 คน รวมถึง ลู่เฮ่าตง ส่วนดร.ซุนซึ่งไหวตัวทันก่อนจึงได้รอดชีวิตและหลบหนีได้สำเร็จ หลังจากการปฏิวัติในกว่างโจวประสบความล้มเหลว ซุนได้สลายผู้ที่มาร่วมก่อการอย่างสุขุม จากนั้นเขาก็เดินทางโดยทางเรือออกจากกว่างโจว ผ่านฮ่องกงไปลี้ภัยที่ประเทศญี่ปุ่น แล้วก็ก่อตั้งสาขาสมาคมซิงจงฮุ่ยขึ้นที่โยโกฮามา ซุนก็ตัดผมหางเปียแบบแมนจูทิ้ง เปลี่ยนเครื่องแต่งกายมาใส่สูทแบบชาวตะวันตกเพื่อแสดงถึงความเด็ดเดี่ยวในการปฏิวัติ และเดินทางไปประเทศต่าง ๆ เพื่อปลุกระดมชาวจีนให้เข้าร่วมการปฏิวัติ

ดร.ซุน ยัตเซ็น ในช่วงขณะทำการเคลื่อนไหวประชาธิปไตย

หลังจากตั้ง สาขาซิงจงฮุ่ย ขึ้นที่ญี่ปุ่น เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1896 ซุนก็เดินทางต่อไปยังสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ เพื่อศึกษาแนวคิดทางการเมืองของประเทศต่าง ๆ ในสหรัฐฯ และ ยุโรป โดยได้รับความช่วยเหลือจาก ดร.เจมส์ แคนต์ลี (Dr. James Cantlie) อาจารย์ชาวอังกฤษที่เคยสอนเขา ณ วิทยาลัยการแพทย์ในฮ่องกง และได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากพี่ชายคนเดิม

การถูกจับลักพาตัวที่อังกฤษ ประชาชาติเคลื่อนไหว

วันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ. 1896 ระหว่างการเดินไปตามท้องถนนในกรุงลอนดอน ซุนก็ถูกลักพาตัวเข้าไปยังสถานทูตจีนประจำกรุงลอนดอน เพื่อส่งตัวลงเรือจากลอนดอนกลับไปยังจีนเพื่อ 'ตัดหัว' ตามคำบัญชาขององค์ชายไจ้เฟิง ราชสำนักชิงนั้นตั้งค่าหัวของเขาไว้ 7,000 ปอนด์ ในฐานะกบฏต่อราชสำนัก หรือไม่ถ้าการลอบพาตัวซุน กลับไปจีนไม่สำเร็จก็จะสังหารเสียที่สถานทูตจีนที่ลอนดอน[15]

อย่างไรก็ตามด้วยความช่วยเหลือจาก พนักงาน ชาวอังกฤษในสถานทูต ที่ส่งข่าวไปให้ ดร.แคนต์ลี อาจารย์แพทย์ผู้ชิดเชื้อกับ ซุน ยัตเซ็น ดร.แคนต์ลีก็ทำการช่วยเหลือศิษย์ทุกวิถีทาง โดยทางหนึ่งติดต่อไปยัง สก๊อตแลนด์ยาร์ด เมื่อไม่ได้ผลจึงประโคมข่าวผ่านทางหนังสือพิมพ์เดอะ โกลบ และ เดอะไทมส์ ที่ลงพาดหัวว่า "นักปฏิวัติจีนถูกลักพาตัวในลอนดอน"[16][17] ข่าวดังกล่าวเป็นกระแสในหมู่คนอังกฤษ และกดดันให้รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษต้องติดต่อไปยังสถานทูตจีนเพื่อเจรจา จนสุดท้ายสถานทูตจีนในลอนดอนต้องปล่อยตัวซุน ออกมาหลังจากกักตัวไว้นาน 12 วัน ซึ่งในตอนหลังซุนได้นำเหตุการณ์ตอนนี้มาเขียนโดยละเอียดโดยใช้ชื่อว่า Kidnapped in London

หลังจากรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ที่เกือบถึงแก่ชีวิตซุน ก็ขลุกตัวอยู่ในห้องสมุดของบริติชมิวเซียมเป็นเวลาถึง 9 เดือนเศษ จากนั้นถึงเดินทางมายังแผ่นดินยุโรป เพื่อศึกษาถึงแนวทางการเมืองของสังคมโลกในขณะนั้น โดยเฉพาะแนวโน้มในการปฏิรูป ปฏิวัติ รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศต่าง ๆ จนในที่สุด ปี ค.ศ.1897 เขาจึงพัฒนาแนวคิดที่ว่าด้วยการปฏิวัติสังคม อันต่อเนื่องกันกับการปฏิวัติชาติกับประชาธิปไตยที่คิดไว้ก่อน

หลักแนวคิดลัทธิไตรราษฎร์

หลักการประชาธิปไตยของดร.ซุน ยัดเซ็นซึ่งเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายที่สุดก็คือ หลักสามประการแห่งประชาชน หรือ ลัทธิไตรราษฎร์ ซานหมินจู่อี้ (อักษรจีน: 三民主义) (The Three Principles of the people) อันได้แก่เอกราชแห่งชาติ (หมินจู่) อำนาจอธิปไตยของประชาชน (หมินฉวน) และหลักในการครองชีพ (หมินเซิง) ภาษาอังกฤษนิยมแปลเป็นหรือ socialism ซึ่งสามารถสรุปได้โดยย่อคือ

  • 1) ชาตินิยม (หมินจู่) หรือหลักการถือความเป็นเอกราชของชาติ เนื่องมหาอำนาจจักรวรรดินิยมยังคงคุกคามตามหัวเมืองต่าง ๆ ผืนแผ่นดินของจีน ซุนได้ใช้หลักการต่อต้านจักรวรรดินิยมและลัทธิล่าอาณานิคมมาสอดแทรกเป็นข้อย่อยของหลักการข้อแรก ส่วนข้อย่อยข้อสองคือหลักการปกครองตนเองที่ควรจะได้แก่ชนกลุ่มน้อยภายในประเทศจีน ซุนถือว่าทุกชนชาติในจีนทุกชนชาติควรมีความเสมอภาคเท่าทียมกันและล้วนเป็นชาวจีนด้วยกัน

(ประเทศจีนประกอบด้วยเชื้อชาติกลุ่มใหญ่ 5 เผ่า คือ ชาวฮั่น ชาวแมนจู ชาวมองโกล ชาวทิเบต ชาวอุยกูร์ ซุนถือว่าราชวงศ์ชิงในขณะนั้นปกครองโดยอภิสิทธิ์ชนชาวแมนจูจึงขัดกับหลักการจึงต้องทำการโค่นล้มราชวงศ์ชิงและให้ชาวแมนจูลงมามีฐานะเท่ากับเชื้อชาติอื่น ๆ

  • 2) ประชาธิปไตย (หมินฉวน) หรือหลักการถืออำนาจอธิปไตยของปวงชน รัฐบาลในอุดมการณ์ของซุน จะต้องเป็นรัฐที่แบ่งแยกองค์การที่ใช้อำนาจอธิปไตยออกเป็น 3 สาขา คือนอกจากมีอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ตามหลักของมองเตสกิเออ (Montesquieu) ซุนยังมีเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเลือกตั้ง โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน

ในขณะเดียวกันต้องถือว่าประชาชนจะเป็นผู้มีอำนาจมากที่สุด การเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยของประชาชนอาจแสดงออกได้ 4 ทาง อำนาจการออกเสียงเลือกตั้ง (Election) อำนาจถอดถอน (Recall) และอำนาจการลงประชามติ (Referendum)

  • 3) ความเป็นอยู่ของประชาชน (หมิงเซิง) หรือหลักการในการครองชีพ เป็นหลักการที่ซุนได้ยืมเอาลัทธิสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์มาใช้ มีการแบ่งสรรปันส่วนที่ดินใช้สอย

แนวคิดทั้งสามดีงกล่าวต่อมาได้กลายเป็นหลักการพื้นฐานที่ยึดถือในการปฏิวัติของจีนตลอดระยะเวลาหลายสิบปี

ถงเหมิงฮุ่ย

จดหมายลายมือพร้อมตราประทับของซุน ยัตเซ็น ในการก่อตั้งสมาคมถงเหมิงฮุ่ยในฮ่องกงภาพวาด ดร.ซุน ยัตเซ็น ขณะกล่าวปราศรัยท่ามกลางบรรดาเหล่านักปฏิวัติ หลังจากที่ประชุมมีฉันทามติลงความเห็นให้จัดตั้งขบวนการถงเหมิงฮุย
สำหรับบทความหลักในหมวดหมู่นี้ ดูที่ ถงเหมิงฮุ่ย

ระหว่างที่ซุนเคลื่อนไหวเพื่อสร้างกระแสการปฏิวัติจีนนั้น ในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศจีนก็มีความเคลื่อนไหวจากคนกลุ่มต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน เพียงแต่กลุ่มอื่นนั้นเป็นเป็นเพียงกลุ่มที่กระจุกแต่เพียงในพื้นที่นั้น ๆ มิได้มีการคิดการใหญ่ซึ่งครอบคลุมไปทั่วประเทศ และที่สำคัญไม่มีหลักการพื้นฐานของการปฏิวัติที่แน่ชัด ดังเช่น ลัทธิไตรราษฎร์ ของ ซุน ยัตเซ็น

จนในเดือน สิงหาคม ปี ค.ศ. 1905 ก็มีการประกาศรวมกลุ่มผู้สนับสนุนการปฏิวัติจีนที่ชื่อ สมาคมพันธมิตรปฏิวัติจีน (จงกั๋วถงเหมิงฮุ่ย:中国同盟会) ขึ้นอย่างเป็นทางการ โดย "ถงเหมิงฮุ่ย" นี้มีจุดมุ่งหมายในการปฏิวัติล้มราชวงศ์ชิง โดยยึดหลักการของลัทธิไตรราษฎร์ โดยศูนย์กลางของถงเหมิงฮุ่ยนั้น อยู่ที่เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น[18]

ช่วงก่อนหน้าที่ "ถงเหมิงฮุ่ย" จะเกิดขึ้นนั้น ทางฝั่งราชสำนักจีนที่ประกาศสงครามกับญี่ปุ่น-ชาติตะวันตก และปล่อยให้กบฏนักมวยออกมาสร้างความวุ่นวายในปักกิ่ง กำลังตกอยู่ในสถานะแพ้สงครามให้กับกองทัพมหาอำนาจพันธมิตร 8 ประเทศ จนต้องมีการลงนามในสนธิสัญญาที่เรียกว่า Boxer Protocol (อักษรจีน: 辛丑条约 ลงนามในวันที่ 7 กันยายน ค.ศ.1901) เพื่อยืนยันว่า จีนยินยอมชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมหาศาล จักรพรรดิกวังซฺวี่ก็กำลังพยายามทำการปฏิรูปทางการปกครองประเทศ การทหาร อยู่เช่นกัน โดยมีการส่งคนไปศึกษายังต่างประเทศเพื่อเตรียมประกาศรัฐธรรมนูญ (ระบบการสอบจอหงวนก็สิ้นสุดลงในช่วงนี้ และ การสะสมกำลังทหารเพื่อสร้างเป็นกองทัพของหยวนซื่อไข่ก็เกิดขึ้นในช่วงนี้เช่นกัน) แต่ทั้งหมดก็สิ้นสุดลงเพราะการขัดขวางของพระนางซูสีไทเฮา

อย่างไรก็ตาม ดังเช่น ที่ ซุนกล่าวไว้ถึง ความสิ้นหวังต่อระบอบจักรพรรดิ การปฏิรูปที่ราชสำนักชิงพยายามทำนั้น ในสายตาของประชาชนกลับไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และยิ่งเป็นการเหยียบย่ำซ้ำเติมให้ทุกข์ยากยิ่งขึ้นไปอีก จากกระแสความไม่พอใจของประชาชนต่อราชสำนักชิงที่พุ่งขึ้นสูง ส่งผลให้ภายในระยะเวลาแค่หนึ่งปี ถงเหมิงฮุ่ย รวบรวมสมาชิกได้มากกว่าหมื่นคน มีการเปิดหนังสือพิมพ์เพื่อ ปลุกระดม และเผยแพร่ ลัทธิไตรราษฎร์ และที่สำคัญพยายามลงมือกระทำการปฏิวัติต่อเนื่อง

แหล่งที่มา

WikiPedia: ซุน ยัตเซ็น http://www.britannica.com/EBchecked/topic/573697/S... http://big5.chinanews.com:89/hb/2011/04-02/2950599... http://www.chinanews.com/n/2003-12-04/26/376869.ht... http://www.countriesquest.com/asia/china/history/i... http://www.medpointeducationgroup.com/university.p... http://www.tour-bangkok-legacies.com/soi-sun-yat-s... http://www.iolani.org/wn_aboutiolani_100305_cc.htm http://www.wanqingyuan.org.sg/ https://www.britannica.com/biography/Sun-Yat-sen https://books.google.com/books?id=B9rYW5xPYEwC&pg=...